หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท

   วิญญาณ คือ การรับรู้ในอารมณ์ที่มากระทบในทวารทั้ง ๖ คือ มองเห็น ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสกาย รู้ต่ออารมณ์ที่มีในใจ ตลอดจนสภาพพื้นเพของจิตใจขณะนั้น
๐ ทางตา - จักขุวิญญาณ
๐ ทางเสียง - โสตวิญญาณ
๐ ทางจมูก - ฆานวิญญาณ
๐ ทางลิ้น - ชิวหาวิญญาณ
๐ ทางกาย - กายวิญญาณ
๐ ทางใจ - มโนวิญญาณ

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

สังขารในปฏิจจสมุปบาท

   สังขาร คือ การปรุงแต่งของจิตให้เกิดหน้าที่
   ๐ ทางกาย เรียกกายสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งร่างกายให้เกิดลมหายใจเข้าออก
   ๐ ทางวาจา เรียกวจีสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติท่ปรุงแต่งให้เกิดวิตกวิจาร
   ๐ ทางใจ เรียกจิตสังขาร ได้แก่ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญญา เวทนา สุข ทุกข์ทางใจ

เพราะการปรุงแต่งของจิตหรือสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดมีวิญญาณ

อวิชชาในปฏิจจสมุปบาท

   อวิชชา คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริงในความทุกข์ของจิต ไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ความหลงไปตามสมมุติบัญญัติ ความไม่เข้าใจโลกและชีวิตที่เป็นจริง ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่างๆภาวะขาดปัญญา ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัย การไม่ใช้ปัญญาหรือปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้น

เพราะความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท

   องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น คือ ๑.อวิชชา > ๒.สังขาร >  ๓.วิญญาณ > ๔.นามรูป>  ๕.สฬาตนะ > ๖.ผัสสะ > ๗.เวทนา > ๘.ตัณหา > ๙.อุปาทาน > ๑0.ภพ > ๑๑.ชาติ > ๑๒.ชรามรณะ   ส่วนโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว เป็นตัวกสนหมักหมม อาสวะซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไปอีก

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ปฏิจจสมุปบาท

   ปฏิจจสมุปบาท คือการแสดงให้ทราบว่าทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะดับทุกข์ได้อย่างไรโดยละเอียด ประกอบด้วยคำว่า "ปฏิจจฺ" แปลว่า "อาศัย" และคำว่า "สมุปฺบาท" แปลว่า "เกิดขึ้นพร้อม" การที่ทุกข์เกิดขึ้นและดับไปนั้นมีลักษณะเป็นธรรมชาติที่อาศัยกันและกัน เกิดและดับ เป็นการแสดงให้รู้ว่าไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา อยู่ที่นี่ หรือ จะเวียนว่ายต่อไป มันเป็นเพียงธรรมชาติล้วนๆที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

คุณค่าทางจริยธรรม

หลักอนัตตา
   ๑.ในขั้นต้น ทางด้านตัณหา ช่วยลดทอนความเห็นแก่ตัว มิให้ทำการต่างๆโดยยึดถือแต่ประโยชน์ตนเป็นประมาณ ทำให้มองเห็นประโยชน์ในวงกว้าง ที่ไม่มีตัวตนมาเป็นเครื่องกีดกั้นจำกัด
   ๒.ในขั้นกลาง ทางด้านทิฐิ ทำให้จิตใจกว้างขวางขึ้น สามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง พิจารณา และจัดการกับปัญหาและเรื่องราวต่างๆโดยไม่เอาตัวตน ความอยากของตน ตลอดจนความเห็น ความยึดมั่นถือมั่นของตนเข้าไปขัด แต่พิจารณาไปตามตัวธรรม ตามตัวเหตุตัวผล ตามที่มันเป็นของมันหรือควรจะเป็นแท้ๆ คือสามารถตั้งอุเบกขา วางจิตเป็นกลาง เข้าไปเพ่งตามที่เป็นจริง งดเว้นอัตตาธิปไตย ปฏิบัติตามหลักธรรมาธิปไตย
   ๓.ในขั้นสูง การรู้หลักอนัตตา ก็คือ การรู้สิ่งทั้งหลายที่มันเป็นอย่างแท้จริง คือ รู้หลักความจริงของธรรมชาติถึงที่สุด ความรู้สมบูรณ์ถึงขั้นนี้ ทำให้สลัดความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ถึงความหลุดพ้น บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์ อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม อย่างไรก็ดี ความรู้แจ่มแจ้งในหลักอนัตตาต้องอาศัยความเข้าใจตามแนวปฏิจจสมุปบาท และการปฏิบัติตามแนวมรรค
   ๔.กล่าวโดยทั่วไป หลักอนัตตา พร้อมทั้งหลักอนิจจตา และหลักทุกขตาเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องแท้จริง ของหลักจริยธรรมอื่นๆโดยเฉพาะหลักกรรม และหลักการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เช่น เพราะสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน ความเป็นไปในรูปกระแสแห่งเหตุปัจจัย ที่สัมพันธ์สืบต่อเนื่องอาศัยกันจึงเป็นไปได้ กรรมจึงมีได้ และเพราะสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน ความหลุดพ้นจึงมีได้ ดังนี้เป็นต้น

คุณค่าทางจริยธรรม

หลักทุกขตา
   ๑. ทุกข์ที่เป็นธรรมดาของสังขาร ต้องรู้ทันไม่ยึดฉวยเอามาใส่ตัวให้เป็นทุกข์ของเรา แต่เป็นภาระที่ต้องจัดการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้จะต้องทำที่ตัวเหตุปัจจัยของมัน และรู้ชัดถึงความสำเร็จผล หรือความผิดพลาดพร้อมทั้งการแก้ไขต่อไปตามความพร้อมของเหตุปัจจัยเหล่านั้น นี่คือวิธีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างอิสระไม่ผูกมัดตัว และไม่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
   ๒. หลักอริยสัจบอกหน้าที่กำกับไว้ว่า ทุกข์สำหรับปัญญารู้ทันและทำให้ไม่เกิดไม่มี แต่สุขที่คนมุ่งหมายต้องทำให้กลายเป็นชีวิตของเรา ตามหลักกิจในอริยสัจ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อทุกข์ ได้แก่ ปริญญาคือการกำหนดรู้ หรือทำความเข้าใจ หมายความว่าเรื่องทุกข์นี้ บุคคลมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพียงแค่กำหนดรู้หรือทำความเข้าใจเท่านั้น การปฏิบัติต่อทุกข์โดยถูกต้องตามหลักกิจในอริยสัจนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่เป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามไป พุทธธรรมสอนให้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ให้รู้จักทุกข์ คือให้รู้จักปัญหาของตนเอง มิใช่เพื่อเป็นทุกข์แต่เพื่อปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

คุณค่าทางจริยธรรม

หลักอนิจจตา
   ๑.มีชีวิตซึ่งเป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ด้านนอกไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำการปรับปรุงแก้ไขด้วยความรู้ที่ตรงต่อเหตุปัจจัย ความเป็นอนิจจังนั้น ว่าตามสภาวะของมัน ย่อมเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ก็มีบัญญัติความเปลี่ยนแปลงด้านหนึ่งว่าเป็นความเจริญ และความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งว่าเป็นความเสื่อม อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในด้านใด อย่างไร ย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะให้เป็น
   ๒.มีชีวิตซึ่งอยู่ด้วยปัญญา ที่ด้านในจิตใจอิสระ เป็นสุขผ่องใส ปล่อยวางได้ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัย ผู้มีจิตใจเป็นอิสระ รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน จึงจะรู้ว่าอะไรเป็นความเสื่อม อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง และจะสามารถใช้ประโยชน์์จากความเจริญที่สร้างขึ้นนั้นได้มากที่สุด พร้อมกับที่สามารถทำตนเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้เป็นอย่างดี

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

ประโยชน์และการประยุกต์ใช้คำสอนเรื่องไตรลักษณ์

 ๑.) ใช้เตือนสติตัวเองไม่ให้ประมาท เพราะไม่มีสิ่งใดแน่นอนสิ่งที่เราไม่คาดฝันว่าจะเกิดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอดังนั้น ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำงานก็ดี ในการดำเนินชีวิตทั่วไปก็ดี เราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
 ๒.) ใช้เป็นหลักทางจิตวิทยาสำหรับปลุกปลอบจิตใจให้เข้มแข็งยามประสบเหตุการณ์อันไม่น่าปรารถนา ความหมายว่า  เมื่อเราทราบอยู่แล้วว่าทุกสิ่งสามารถทำให้เราเกิดทุกข์ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และทุกสิ่งไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของเราเสมอไป เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนำมาซึ่งความทุกข์เราจะได้ปลอบใจตนเองได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นธรรมดาเมื่อเราไม่สามารถบังคับบัญชาสิ่งใดได้
 ๓.) ใช้เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะเมื่อทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง หากเกิดสิ่งที่ๆไม่พึงประสงค์กับเรา เราก็ควรจะเข้าใจสิ่งนั้นและพยายามทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
 ๔.) ใช้เป็นหลักในการฝึกอบรมและขัดเกลาจิตใจของตนเอง นั่นคือเราควรหมั่นพิจารณาสิ่งต่างๆรอบตัวเองอยู่เสมอว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อนบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลง รวมทั้งทำให้เราไม่ทำผิดทำชั่วด้วยอำนาจของกิเลสเหล่านี้ด้วย

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ความสัมพัรธ์ระหว่างอนิจจัง ทุกขตา และอนัตตา

   ลักษณะทั้งสามอย่างของไตรลักษณ์นี้มีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะสิ่งที่ประกอบกันเป็นขันธ์ ๕ เพราะลัษณะไม่เที่ยงหรือความเปลี่ยนแปลงก็คือลักษณะที่เกิดมาจากการคงทนอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้อันเป็นลักษณะของความทุกข์ ความเป็นทุกข์ก็เกิดมาจากการไม่มีความเป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชาที่สามารถสั่งให้เป็นอย่างที่ต้องการได้เสมอไป เพราะถ้าสั่งการได้ดังปรารถนาก็คงไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นได้
   ในกรณีนี้จึงอาจกล่าวโดยย่อได้ว่า เป็นอนิจจังเพราะเป็นทุกข์ และเป็นทุกข์เพราะอนััตตา กล่าวอีกอย่างคือความเป็นอนัตตาคือความไม่มีตัวตนที่คงที่และความไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเกิดขึ้นเพราะทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ตลอดเวลา สาเหตุที่ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ก็เพราะทุกสิ่งต้องไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง ในกรณีนี้ เราอาจกล่าวได้ในทางกลับกันได้อีกเช่นกันว่า เป็นอนัตตาเพราะเป็นทุกข์ และเป็นทุกข์เพราะอนิจจัง เพราะสภาวะเหล่านี้เนื่องถึงกันหมด

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

หลักไตรลักษณ์

   หลักไตรลักษณ์ หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอันว่าด้วยลักษณะ ๓ อย่างที่มีทั่วไปแก่สรรพสิ่ง ไตรลักษณ์เป็นลักษณะประจำของขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์จึงถือว่าเป็น "กฎ" อย่างหนึ่งของธรรมชาติ


องค์ประกอบของไตรลักษณ์
   ๑. อนิจจตา ความเป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ลักษณะของอนิจจตาหรือที่เรียกว่า "อนิจจลักษณะ" ก็คือ การเกิดขึ้น , การเปลี่ยนแปลงขณะตั้งอยู่ , และการดับไปของสิ่งทั้งหลาย
  
   ๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์หรือความทุกข์ คือสิ่งที่ทนได้ยาก และอาการที่ทนอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้ จำแนกความทุกข์ออกเป็น ๓ ประเภทดังนี้
    (๑) ทุกขทุกขตา หรือ ทุกขทุกข์ หมายถึง ทุกข์คือความรู้สึกทุกข์ซึ่งเป็นเวทนา
    (๒) สังขารทุกขตา หรือ สังขารทุกข์ ทุกข์ตามสภาพสังขารหรือทุกข์คือสังขาร หมายถึงทุกข์ของสังขารทั้งปวง
    (๓) วิปริณามทุกขตา หมายถึงความรู้สึกสุขหรือสุขเวทนาที่เป็นความทุกข์หรือมีทุกข์แฝงอยู่ด้วยตลอดเวลา

   ๓. อนัตตา ความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่และไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" รวมทั้งลักษณะของความไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชา ความเป็นอนัตตามีความหมายหลัก ๒ อย่างคือ
    (๑) ความเป็นอนัตตาหมายถึงความไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา"
    (๒) ความเป็นอนัตตาหมายถึงลักษณะที่ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชา

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

คุณค่าทางจริยธรรม

   การแสดงขันธ์ ๕ นี้มุ่งให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า "สัตว์" "บุคคล" "ตัวตน" เป็นต้นนั้น เมื่อแยกออกไปแล้ว จะไม่พบคำว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน จะพบแต่ส่วนประกอบ ๕ ส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า ชีวิต เป็นการประชุมเข้าขององค์ประกอบต่างๆ หน่วยรวมขององค์ประกอบเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่มี เมื่อเข้าใจได้อย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว จะสามารถถอนความยึดมั่นถือมั่นในเรืื่องตัวตนได้
   เมื่อเราพบว่า ขันธ์ ๕ มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกันเราจะไม่เกิดความเห็นผิดว่าขาดสูญ และความเห็นผิดว่าเที่ยงแท้ เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนที่แท้จริงหรือถาวรและมีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยกันและกัน เช่นนี้ เราจะเข้าใจในหลักของกรรมได้อย่างถูกต้อง

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ขันธ์ 5

ความหมายของขันธ์ ๕ 
   ขันธ์ ๕ หรือส่วนประกอบ ๕ อย่างของชีวิตคืออะไร ขันธ์ แปลว่า กอง,หมวด,หมู่,กลุ่ม คำว่า "ขันธ์ ๕" จึงหมายถึง ส่วนประกอบของชีวิต ๕ อย่าง ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

องค์ประกอบของขันธ์ ๕
๑. รูป หมายถึง ส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นสสารหรือธาตุ เช่น ส่วนที่เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ โลหิต
น้ำเหลือง เป็นต้น ส่วนประกอบของรูปขันธ์นี้แยกออกได้ ๒ อย่าง คือ
   ๑.๑ มหาภูตรูป หมายถึง รูปใหญ่ คือร่างกาย ได้แก่ ส่วนประกอบที่มองเห็นได้ รา่งกายปรุงแต่งด้วยสสารหรือธาตุ ๔ ชนิด คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
   ๑.๒ อุปาทายรูป หมายถึง รูปเล็ก หรือรูปอาศัยรูปใหญ่ รูปเล็ก เช่น รูปบุรุษ รูปสตรี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากร่างกาย เช่น เสียง กลิ่น รส เป็นต้น
๒. เวทนา หมายถึง ความรู้สึกต่างๆ แบ่งออกได้ ๓ ประเภท คือ รูสึกดีใจ รู้สึกเสียใจ และรู้สึกเฉยๆ หรือ รู้สึกเป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ถ้าแบ่งความรู้สึกไปตามทางที่เกิดก็มี ๖ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
๓. สัญญา หมายถึง ส่วนประกอบที่เป็นความจำได้หมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆอันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นๆได้ สัญญาแบ่งเป็น ๖ ตามทางการรับรู้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นคือ เมื่อตาเห็นรูปคน จำได้ว่าเป็นคน และจำได้ต่อไปว่า คนๆนี้ ชื่อนี้ นามสกุลนี้ ประกอบอาชีพนี้ เป็นต้น
๔. สังขาร หมายถึง ส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นคุณสมบัติของจิตที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือเป็นกลางๆโดยมีเจตนาเป็นตัวนำ หรือหมายถึง  อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตแล้วปรุงแต่งจิตให้คิด ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานของจิตนั่นเอง คุณสมบัติที่ปรุงแต่งจิตให้คิดนั้น ปรุงแต่งให้คิดได้ ๓ ทาง คือ คิดในทางดี คิดในทางไม่ดี และคิดเป็นกลางๆ  สังขารในขันธ์ ๕ นี้ หมายถึง การคิด การปรุงแต่งจิตให้คิด
๕. วิญญาณ หมายถึง ส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นส่วนรู้แจ้งอารมณ์ หรือการที่จิตรับรู้อารมณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

การเกิดขึ้นของความเห็นผิด

   ทุกสิ่งทุกอย่างมีบ่อเกิดทั้งนั้น แม้ความคิดที่ผิดและถูกก็มีบ่อเกิดเช่นเดียวกันกับสิ่งทั้งหลายในโลก ความจริงเรื่องนี้พิจารณาได้จากข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังนี้
  

      "ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นบ่อเกิดของความเห็นผิด และเป็นเหตุเพิ่มพูนความเห็นผิด เหมือนการพิจารณาอย่างมักง่ายเลย เมื่อบุคคลพิจารณาอย่างมักง่าย ความเห็นผิดที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นย่อมเพิ่มพูนยิ่งขึ้น"
 

   ความคิดอ่านอย่างมักง่าย หมายถึง การไม่สอบสวนถึงบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลายให้ชัดเจน พิจารณาสิ่งทั้งหลายแต่เพียงผิดเผินโดยขาดโยนิโสมนสิการ จึงไม่พบเหตุผลในสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องแล้วก็เข้าใจผิด ยึดถือความเข้าใจผิดไปเป็นหลักการของตนเอง ก็ปรากฏเป็นความเห็นผิด